“ทองคำ”เตรียมเลือกทางหลัง FOMC – YLG แนะปรับพอร์ตรับความเสี่ยง

1,196

หลังจากที่ตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐ เดือน พ.ค. ได้พุ่งขึ้น 5.0% ทำให้หลายฝ่ายได้เฝ้ารอท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐว่า จะคงนโยบายการเงินแบบเดิมต่อไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะในการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ รวมถึงการประชุมใหญ่ที่เมืองแจ็คสัน โฮล ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำโดยตรง

ทั้งนี้ที่ผ่านมานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงรักษาจุดยืนเดิมในการประชุมกลางสัปดาห์นี้  แต่อาจจะเริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล และจะเริ่มดำเนินการปรับลด QE ในเดือนธ.ค.หรือต้นปีหน้า ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 ทั้งนี้หากเฟดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ก็จะเป็นข่าวร้ายต่อราคาทองคำ และจะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ นอกจากนั้นจะส่งกระทบอย่างหนักต่อตลาดเกิดใหม่เหมือนปี 2541 และ 2556

ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากต่างชาติบางคน ได้มีมุมมองที่สวนทางกับประธาน เฟด โดยเฉพาะประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นเพียงชั่วคราว พร้อมอ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเฟดนิวยอร์ก ที่เน้นย้ำถึงภัยคุกคามด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขรายได้ครัวเรือน ในเดือนที่แล้วเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% สูงสุดนับตั้งแต่มกราคม 2020 แต่รายจ่ายของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5.0% แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า สถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าในปีหน้าจะดีขึ้น ทั้งนี้นักวิเคราะห์ หลายคนยังคงเชื่อมั่นในทองคำเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ด้านนางสาว ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG กล่าวกับ GoldAround.com ว่า ในการประชุม FOMC ครั้งนี้จะต้องจับตา  3 เรื่องคือ  Economic Projections ซึ่งทาง ING คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับ “เพิ่ม” การคาดการณ์ GDP และปรับ “เพิ่ม” การคาดการณ์อัตราการว่างงานขึ้นเล็กน้อย แต่ “เพิ่ม” การคาดการณ์เงินเฟ้อ  ทั้งนี้หากเฟดปรับเพิ่มคาดการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะเป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์และกดดันราคาทองคำ

ประเด็นต่อมา คือ Dot Plot ตลาดคาดคาดการณ์ว่าอาจมีเจ้าหน้าที่เฟดบางรายพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ อาจยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยน Median ของการคาดการณ์โดยรวม ซึ่งจะยังคงบ่งชี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2023 เช่นเดิม จะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ

เรื่องสุดท้ายคือการแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ต่อการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงความชัดเจนเกี่ยวกับ QE Taperimg ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำ หาก ปธ.เฟด ยัง คงย้ำจุดยืนเดิมจะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงซื้อทองคำ ในทางกลับกัน หากเฟดส่งสัญญาณในเชิง Hawkish มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หรือ มีการส่งสัญญาณเริ่มหารือถึงการปรับลด QE ในอนาคต ต้องระวังการกลับมาแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อราคาทองคำได้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG ระบุว่าผลการประชุมเฟดครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และผลการประชุมมีโอกาสเป็นได้ทั้ง ปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ดังนั้นแนะนำนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยพยายามลดสถานะเพื่อควบคุมความเสี่ยง (อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม…)

ก่อนหน้านี้ประธาน เฟด ได้ยืนยันในการให้สัมภาษณ์ในหลายเวที โดยระบุว่าจะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน คือตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน เพราะมองว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเพียงชั่วคราว ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานยังไม่ได้ตามเป้าหมายวางไว้ แต่ทว่าต้องจับตาความเคลื่อนไหวอื่นๆ ประกอบโดยเฉพาะการแสดงความเห็นของนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ออกมาระบุว่าควรจะปล่อยให้เงินเฟ้อ และควรจะขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันไปยังเฟดได้

นอกจากนั้นยังมีต้องดูจากหลายๆ สัญญาณ โดยเฉพาะ ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ขยับเรื่องอัตราดอกเบี้ยบ้างแล้ว อาทิ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางนอร์เวย์ ล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.50% ถือเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ และยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด หลังจากที่แตะระดับ 6% ในเดือนที่แล้วสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2559

หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ซื้อ-ขาย หรือลงทุน หรือเป็นเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ และอาจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldKUB.com ทั้งนี้ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และหรือ ความเสียหายที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.